หลวงพ่อยิด

วัตถุมงคล หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน วัดสองกะลอนประชาสรรค์

หลวงพ่อยิด

วัตถุมงคล หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน วัดสองกะลอนประชาสรรค์

หลวงพ่อยิด

Gวัตถุมงคล หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน วัดสองกะลอนประชาสรรค์

หลวงพ่อยิด

วัตถุมงคล หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน วัดสองกะลอนประชาสรรค์

หลวงพ่อยิด

วัตถุมงคล หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน วัดสองกะลอนประชาสรรค์

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี

หลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี




ประวัติ
          ท่านเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2398 โยมบิดาชื่อ บุดดี โยมมารดาชื่อดา ท่านเกิดที่หมู่ 1 ตำบลในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันเด็กท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่สำนักราชบรรเทา โดยได้ศึกษาอักษรลาว อักษรไทย อักษรขอม จนอ่านออกเขียนได้ ตัวท่านเป็นคนสุภาพเรียบร้อยไม่ชอบทำบาปมาตั้งแต่เด็กๆ จนท่านอายุได้ 24 ปี ตรงกับ พ.ศ. 2422 ท่านจึงได้อุปสมบท ณ วัดป่าน้อย ปัจจุบันเรียกว่า วัดมณีวนาราม โดยท่านอธิการจันลา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ดีเป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อบวชแล้วท่านได้ศึกษาพระธรรมวิจัยท่องบทสวดมนต์ อันมี เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน พระปาฏิโมกข์ สัททสังคหสูตร มูลกัจจายน์จนจบพระอุปัชฌาย์เห็นว่าท่านมีความรู้ดีจึงส่งท่านไปอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง ท่านก็ได้ปฏิบัติเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ขยันเอางานเอาการ ต่อมาท่านเจ้าอาวาส วัดทุ่งศรีเมืองว่างลง ทางการจึงตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสปกครอง วัดทุ่งศรีเมืองต่อมา
          ครั้นถึงปี พ.ศ. 2434 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ และต่อมาท่านก็ได้เป็นพระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภออยู่ 12 ปี ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ. 2446 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พอถึงปี พ.ศ. 2447 ท่านก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูวิโรจน์รัตโนบล
          หลวงปู่รอดท่านเป็นพระที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนในเรื่องต่างๆ เสมอมาด้วยความเต็มอกเต็มใจ จึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสของบรรพชิตและคฤหัสถ์โดยทั่วไปทั้งเมืองอุบลฯ และเมืองใกล้เคียง หลวงปู่รอดท่านเป็นผู้นำสาธุชนเข้ายึดพระรัตนตรัยด้วยการอบรมให้เล่าเรียน ธรรมปฏิบัติ ทำให้คนชั่วกลับตัวมาเป็นคนดีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเวลาท่านดำริจะทำอะไรเป็นต้องสำเร็จ ท่านได้นำประชาชนบูรณะก่อสร้างถาวรวัตถุไว้หลายแห่งในเขตปกครองของท่าน ที่สำคัญที่สุดก็คือการบูรณะพระธาตุพนมอันเป็นพุทธเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์
          กล่าวคือในปี พ.ศ. 2444 พระอุปัชฌาย์มหาโชติ วัดบูรพา เมืองอุบลฯ พร้อมทั้งพระอาจารย์มัน ภูริทัต พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล กับคณะเดินธุดงค์มาพักจำพรรษาอยู่บริเวณพระธาตุพนม ท่านอาจารย์ทั้ง 3 ท่านเห็นว่าองค์พระธาตุหมองคล้ำคร่ำคร่า ควรจะทำการบูรณะให้สวยงาม ก็เห็นพ้องกันว่ามีแต่ พระครูอุดรพิทักษ์คณเดช (หลวงปู่รอด) แห่งวัดทุ่งศรีเมืองเท่านั้น ที่จะมีความสามารถบูรณะได้สำเร็จ จึงได้เรียกหัวหน้าญาติโยมชาวพระธาตุพนมมาแนะนำให้ไปนิมนต์หลวงปู่รอดมา เพื่อทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ชาวบ้านจึงได้นำหนังสือของพระอาจารย์ทั้งสามไปนิมนต์หลวงปู่รอด ท่านก็ได้รับปากและมาช่วยบูรณะองค์พระธาตุพนมได้สำเร็จ โดยมีชาวบ้านและชาวลาวหลั่งไหลกันมาทั่วสารทิศ มาช่วยกันทำงานประมาณ 2 เดือนก็สำเร็จและมีการฉลองเป็นงานใหญ่ นับว่าเป็นงานปฏิสังขรณ์ชิ้นสำคัญที่ต้องจดจารึกไว้

ละสังขาล
          หลวงปู่รอดท่านมรณภาพในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 สิริอายุได้ 88 ปี พรรษาที่ 64 ท่านทิ้งไว้แต่อนุสรณ์คุณงามความดีให้แก่อนุชนคนรุ่นหลัง แม้ว่าท่านจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม คุณงามความดีของท่านยังจารึกไว้ในหัวใจของชาวอุบลราชธานี และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวอุบลฯ ตลอดไป

ขอบคุณรูปภาพ และ ข้อความดีๆ จาก http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539232561&Ntype=5

หลวงพ่อคูณ

หลวงพ่อคูณ



ประวัติ
        หลวงพ่อคูณ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ที่บ้านไร่ หมู่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ 1. หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ 2. นางคำมั่น แจ้งแสงใส 3. นางทองหล่อ เพ็ญจันทร์ มารดาคือ นางทองขาว เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ กลางดึกของคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี 3 นางได้ฝันเห็นเทพองค์หนึ่ง มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้านของนางและกล่าวว่า "เจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงาม ความดีมาตลอดหลายชาติ เราขออำนวยพรให้เจ้า และครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไป" และเทพองค์นั้นยังได้มอบดวงแก้วใสสะอาดสุกว่างให้แก่นางด้วย "ดวงมณีนี้ เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดีต่อไปภายหน้า จะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง"
          หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๘๗ (หนังสือบางแห่งว่า ปี ๒๔๘๖) ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ หลวงพ่อคูณได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา (บางตำรากล่าวว่าเมื่อบรรพชาแล้วได้เล่าเรียนกับหลวงพ่อคง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดถนนหักใหญ่ก่อน แล้ว หลวงพ่อคงจึงนำไปฝากกับหลวงพ่อแดง) หลวงพ่อแดง เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ อย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก
          คำสอนของหลวงพ่อคูณ ได้กล่าวไว้ว่า "คนเรา เมื่อมีเมตตาให้กับผู้อื่น ผู้อื่นเขาก็จะ ให้ความเมตตาตอบสนองต่อเรา ถ้าเราโกรธเขา เขาก็จะโกรธเราตอบเช่นกัน ความเมตตานี่แหละ คืออาวุธ ที่จะปกป้องตัวเราเอง ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง เป็นอาวุธที่ใคร ๆ จะนำเอาไปใช้ก็ได้ จัดว่าเป็นของดีนักแล"


ขอบคุณ ข้อความดีๆ จาก http://www.shopat7.com/Tiptricks
และรูปภาพจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=646150

หลวงปู่แหวน

หลวงปู่แหวน



ประวัติ
          ท่านออกบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุได้ 13 ปี โดยมีจิตมุ่งมั่นจะอยู่ในสมณเพศ ตามแนวความคิดของมารดาเมื่อครั้งยังมีชีวิต เมื่อออกบรรพชาเป็นสามเณรนั้นได้บวชในฝ่ายมหานิกาย โดยมีพระอาจารย์คำมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "แหวน" สามเณรแหวนสนใจปฏิบัติธรรมและเรียนรู้ในตำราต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง แม้ด้วยวัยเพียง 13 ปี ท่านก็สามารถอ่านตำราในใบลานได้ทั้งภาษาขอม และภาษาล้านนาจนแตกฉาน ในด้านความประพฤติตนของสามเณรแหวนนี้เป็นที่น่าเลื่อมใสและก่อศรัทธาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านขยันเจริญสมาธิ ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว และไม่เสพเนื้อสัตว์ บุคลิกลักษณะสุขุม พูดน้อย ดูเคร่งขรึมสมกับการครองเพศสมณะ
          อาจารย์อ้วน ผู้มีศักดิ์เป็นอาของสามเณรแหวน ได้พิจารณาส่งเสริมความตั้งใจศึกษาของหลานเป็นอย่างดี ได้นำไปฝากเรียนธรรมและวิชาการอื่นๆ ที่สำนักสงฆ์วัดนาสัก อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และได้ไปเรียนต่อ ณ สำนักสงฆ์วัดสร้างถ่อ อำเภอหัวสะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ณ วัดนี้ ได้มีพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางภาษาบาลี ภาษาไทย ทำให้ได้เข้าใจและรู้แจ้งในธรรมะขึ้นอีก ความใฝ่รู้ของท่านทำให้รู้และเริ่มเชี่ยวชาญในทางไสยศาสตร์ประกอบไปด้วย

          เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดสร้างถ่อนอก (ห่างจากวัดสร้างถ่อเล็กน้อย) บวชในฝ่ายมหานิกายเช่นเดิม ได้ศึกษาธรรมวินัย ธรรมปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นผู้รอบรู้ทั้งปริยัติธรรมตลอดจนถึงวิชาอาคมอย่างกว้างขวาง จากความที่ท่านเป็นผู้ชอบแสวงและใฝ่หาความรู้นั้นเอง จึงเกิดความคิดที่จะออกเสาะหาอาจารย์ผู้ที่จะประสิทธิ์ความรู้ให้แก่ท่านต่อไปอีก จึงได้ออกเดินทางธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ขณะที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เริ่มออกธุดงค์เพื่อแสวงหาโมขธรรมนั้นอายุได้ประมาณ 30 ปี บ่อยครั้งจากการธุดงค์ได้พบสหายธรรมจากที่ต่างๆ บ้างก็เป็นพระสงฆ์ในแนวมหานิกายด้วยกัน บ้างก็เป็นสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่ก็มีความผูกพันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดกระทั่งมีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดต่างๆ แก่กันเสมอ ผู้ที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ สนิทสนมด้วยเป็นพิเศษ และได้คบหากันต่อมาก็คือ หลวงปู่ตื้อ อาจลธรรมโม ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ไปพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งกำลังเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึงว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และกำลังออกสั่งสอนธรรมปฏิบัติอยู่ทางภาคอีสานขณะนั้น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้พบและฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่น บังเกิดความซาบซึ้ง และทราบว่าเป็นทางแห่งการแสวงหาธรรมตามที่ประสงค์ 

          หลังจากหลวงปู่แหวนได้พบพระอาจารย์มั่น และได้เดินทางธุดงค์ไปกับหลวงปู่ตื้อ โดยเดินทางไปจากภาคอีสานไปสู่ประเทศลาว เขมร เวียดนาม พม่า จนกระทั่งทะลุผ่านกลับสู่ประเทศไทย ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วกลับมาสู่อีสานแล้ว ต่อมาอีกไม่นาน (ประมาณอายุ 33 ปี) หลวงปู่แหวนได้ติดตามท่านเจ้าคุณพระอุมาลีคุณปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ไปจำพรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนี้หลวงปู่แหวนได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกครั้ง พร้อมทั้งได้ขอรับเป็นพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุมาลีคุณปมาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ 
          นับแต่นั้นหลวงปู่แหวนก็ได้ออกธุดงคกรรมฐานหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรแถบภาคเหนือตลอดมา จวบจนได้พบวัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และได้ทำการพัฒนาจนเจริญรุ่งเรือง จนเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปถึงทุกวันนี้ ปีพ.ศ.2489 หลวงปู่แหวนจำพรรษาที่วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง ในพรรษานั้นท่านอาพาธเป็นแผลที่ขาอักเสบต้องผ่าตัด โดยมีพระอาจารย์หนู สุจิตโต ซึ่งเดินทางมาจากดอยแม่ปั๋งพยาบาลอยู่ใกล้ๆ เมื่อครบ 7 วัน ต้องกลับไปดอยแม่ปั๋ง เพราะอยู่ระหว่างพรรษา จนกระทั่งเดือนเมษายนในปีต่อมา อาการอาพาธจึงดีขึ้น แต่ก็ยังไม่หายสนิทยังเดินไปไหนไกลๆไม่ได้
          นับแต่นั้นมาอาจารย์หนูได้พยาบาลอยู่ใกล้ๆ เพื่อดูแลหลวงปู่แหวน ต่อมาท่านอาจารย์หนูได้ดำริว่า ปัจจุบันหลวงปู่มีอายุมากแล้ว ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่ด้วยเพื่อเป็นอุปัฏฐาก ถ้านิมนต์มาอยู่ที่ดอยแม่ปั๋งก็จะได้ถวายการดูแลได้โดยง่ายไม่ต้องไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ แต่ก็ต้องเป็นเพียงความคิดของพระอาจารย์หนูเท่านั้น เพราะในเวลาดังกล่าว ดอยแม่ปั๋งยังไม่มีอะไรพร้อมแม้แต่กุฏิก็ยังไม่มี
          ปีพ.ศ.2505 ขณะที่หลวงปู่แหวนมีอายุ 75 ปี คืนวันหนึ่งท่านอาจารย์หนูนั่งภาวนาอยู่เกิดเป็นเสียงหลวงปู่แหวนดังขึ้นมาที่หูว่า จะมาอยู่ด้วยคนนะ หลังจากวันที่ได้ยินเสียงหลวงปู่แหวนอีกสามวัน พระอาจารย์หนูได้ถูกนิมนต์ไปที่วัดบ้านปงสถานที่ที่หลวงปู่อยู่ และถือโอกาสนิมนต์หลวงปู่แหวนมาที่วัดดอยแม่ปั๋งด้วย
          เมื่อหลวงปู่แหวนได้มาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งแล้ว ครั้งแรกท่านพักอยู่ที่กุฏิหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง การมาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งนี้ ท่านได้มีข้อตกลงกับพระอาจารย์หนูว่า หน้าที่ต่างๆ และกิจทุกอย่างที่มีขึ้นในวัด ให้ตกเป็นภาระของพระอาจารย์หนูแต่เพียงผู้เดียว ส่วนท่านจะอยู่ในฐานะพระผู้เฒ่าผู้ปฏิบัติธรรมจะไม่มีภาระใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้น หลวงปู่แหวน จะไม่รับนิมนต์โดยเด็ดขาด แม้ที่สุดถึงจะเกิดอาพาธหนักเพียงใดก็ตาม ท่านไม่ยอมนอนรักษาที่โรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ ตามอริยโคตรอริยวงศ์ ซึ่งบูรพาจารย์ท่านเคยปฏิบัติมาแล้วในกาลก่อน
          นับตั้งแต่หลวงปู่แหวนได้ขึ้นไปทางเหนือ ท่านไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นเลย เพราะอากาศทางภาคเหนือสัปปายะ สำหรับท่าน 

ละสังขาล
          หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้มรณภาพลงที่วัดดอยแม่ปั๋งแห่งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2528 สิริอายุ 98 ปี

ขอขคุณข้อความดีๆ จาก  http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538618084&Ntype=40
และรูปภาพจาก https://sites.google.com/site/sphrathewtheph/-52







หลวงปู่ทิม

หลวงปู่ทิม


ประวัติ
           หลวงปู่ทิม เกิดที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร หมู่ที่ 2 ตำบลละหาร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง นามเดิมของท่านชื่อ ทิม นามสกุล งามศรี เกิดเมื่อปีเถาะ วันศุกร์ เดือน 7 ตรงกับวันที่ 16 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2422 เป็นบุตรของนายแจ้ นางอินทร์ งามศรี มีพี่น้อง 3 คน หลวงปู่ทิมเป็นคนที่ 2
         เมื่อตอนเด็กๆ ท่านชอบออกเที่ยวล่าสัตว์ด้วยความคึกคะนองโดยนำมาเลี้ยงครอบครัวเรื่อยๆไป พออายุได้ 17 ปี บิดาของท่านได้นำตัวท่านไปฝากไว้กับท่านพ่อสิงห์ที่วัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือกับท่าน และอาจารย์อื่นๆ เป็นเวลาประมาณ 1 ปี จนมีความสามารถเรียนรู้จนเข้าใจ อ่านออกเขียนได้ดีแล้ว บิดาของหลวงปู่ทิม จึงได้ไปกราบนมัสการท่านพ่อสิงห์ เพื่อขอลานำหลวงปู่ทิมกลับมาอยู่บ้านเช่นเดิม
          หลวงปู่ทิมก็ได้ช่วยพ่อแม่ทำงานและหาเลี้ยงพ่อแม่ตามวิสัยลูกที่ดีมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ด้วยดีตลอด จนกระทั่งอายุเข้า 19 ปี ท่านจึงถูกคัดเลือกเข้าเป็นทหารประจำการ ในสมัยนั้นได้เข้ามาประจำการ อยู่ในกรุงเทพฯถึง 4 ปีเศษ จึงได้รับการปลดประจำการ จากทหารกลับไปอยู่ที่บ้านเดิม เมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้ว บิดาของท่าน จึงได้จัดการอุปสมบทให้ท่านเป็นพระภิกษุทันที
         หลวงปู่ทิม อุปสมบทเมื่อวันที่ 7 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2449 ซึ่งตรงกับปีมะแม เดือน 6 วันเสาร์ ขึ้น 7 ค่ำ โดยมีพระครูขาว วัดทับ มาเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์สิงห์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจารย์ ณ พัทธสีมาวัดละหารไร่ ได้ฉายาทางสงฆ์ว่า อิสริโก
          ท่านได้เที่ยวร่ำเรียนวิชากับเกจิอาจารย์ชื่อดังต่างๆ หลายอาจารย์ด้วยกัน ที่เป็นพระก็มี ฆราวาสก็มี ที่ท่านเล่าให้ฟังมี โยมรอด โยมเริ่ม และ โยมสาย ทั้ง 3 คนเป็นฆราวาสที่มีวิชาอาคมสูงเป็นที่นับถือของชาวบ้านแถบนั้นมาก จนกระทั่งท่านได้รับตำราตกทอดมาจากหลวงปู่สังข์เฒ่า เจ้าอาวาสวัดเก๋งจีนในสมัยนั้น
          นอกจากนี้ หลวงปู่ทิม ยังได้เรียนทางวิปัสสนากัมมัฎฐานกับพระอาจารย์อื่นๆ อีกหลายรูปด้วยกันซึ่งต่อมาเมื่อท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดละหารไร่ ท่านก็เริ่มพัฒนาวัดโดยการก่อสร้างเสนาสนะบูรณะซ่อมแซมกุฏิ และอื่นๆ อีกมากมาย ญาติโยมทั้งหลายก็เริ่มมีความเลื่อมใสในตัวท่านมาก เพราะท่านเป็นพระทีสมณะสำรวมเคร่งในธรรมะและวินัยเป็นที่น่าเคารพมาก
         ต่อมาท่านจึงได้ชักชวนพวกชาวบ้านและญาติโยมทั้งหลายให้ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น 1 หลัง ในเวลาปีเศษๆ ก็เสร็จ พร้อมกับผูกพัทธสีมาจนเป็นที่เรียบร้อยในเวลาเดียวกันหลังจากสร้างพระอุโบสถเสร็จ และต่อมาท่านจึงได้ก่อสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นอีก 1 หลัง โดยที่ทางอำเภอและจังหวัดร่วมด้วย ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 8 เดือนเท่านั้นก็แล้วเสร็จเรียบร้อย เปิดให้นักเรียนเข้าเรียนได้ทันที
          จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2478 หลวงปู่ทิม จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน โดยได้รับการส่งหมายและตราตั้งมาไว้ที่ทางเจ้าคณะจังหวัด แต่หลวงปู่ก็ไม่ยอมรับและไม่ยอมบอกใครๆ ด้วยอญู่เป็นเวลานาน ทางจังหวัดจึงได้มอบให้ทางคณะอำเภอเอามามอบให้ท่านที่วัดละหารไร่เอง ท่านจึงได้รับเป็น พระครูทิม อิสริโก และได้รับเป็นพระคู่สวด
          อยู่มาจนถึงปี พ.ศ. 2497 ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งพระครูทิม อิริโก เลื่อนขั้นให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ท่านก็ไม่ยอมบอก ไม่อยากได้ ไม่ยินดียินร้ายกับใครอยู่เป็นเวลานาน ญาติโยมที่วัดไม่มีใครทราบเรื่อง จนทางเจ้าคณะอำเภอได้มีหนังสือส่งไปที่วัดจึงได้รับทราบกัน นายสาย แก้วสว่าง ไวยาวัจกรวัด จึงได้นำข่าวไปบอกแก่ชาวบ้านและกรรมการวัดละหารไร่ให้ทราบ พร้อมกับจัดขบวนแห่มารับที่วัดเจ้าคณะจังหวัดโดยได้อาราธนานิมนต์หลวงปู่ทิม มารับสัญญาบัตรพัดยศเป็น "พระครูภาวนาภิรัต" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2507

ละสังขาล
          หลวงปู่ทิม มีอายุได้ 96 ปี 72 พรรษา ยังแข็งแรงสมบูรณ์ เดินไปไหนมาไหนได้สะดวก ยังมองอะไรได้ชัดเจนดี ฟันก็ไม่เคยหักแม้แต่ซี่เดียว ถึงแม้ว่าอายุของท่านเกือบจะ 100 ปีแล้วก็ตาม
          หลวงปู่ทิม ท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2518 นับได้ว่าท่านเป็นพระอาวุโสและมีพรรษามากกว่าพระเกจิอาจารย์รูปใดๆ ทั้งหมดในจังหวัดระยองเลยทีเดียว 

ขอบคุณรูปภาพ และ ข้อมูลดีๆ จาก  http://p.moohin.com/101.shtml


สมเด็จพุทธจารย์โต

สมเด็จพุทธจารย์โต




ประวัติ
          เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) – ถือกำเนิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ณ บ้านไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 บิดาไม่ปรากฏนาม มารดาชื่อ เกตุ ในกาลต่อมาบิดามารดาของท่านได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง และท่านได้ย้ายครอบครัวอีกครั้งหนึ่งโดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บางขุนพรหม จังหวัดพระนครในสมัยนั้น
          หลังจากได้ย้ายครอบครัวมาที่บางขุนพรหม ท่านได้เรียนอักษรสมัยกับท่านเจ้าคุณอรัญญิก(ด้วง) เจ้าอาวาสวัดอินทร์ในสมัยนั้น เมื่ออายุได้ 12 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอินทร์ โดยมีท่านเจ้าคุณบวรวิริยเถร(อยู่) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ย้ายไปอยู่วัดระฆังเพื่อเรียนพระปริยัติธรรม ท่านเป็นผู้มีปฎิภาณเป็นเลิศ มีความจำยอดเยี่ยม สามารถแปลและจดจำพระไตรปิฎกได้อย่างแม่นยำ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จ
          พระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่2) ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร ทรงชื่นชมและได้พระราชทานเรือกัญญาหลังคาแซงไว้เป็นพาหนะประจำตัว นับว่าเป็นเกียรติแก่ท่าน เพราะเรือชนิดนี้เป็นเรือของผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าพระองค์เจ้า
          เมื่อมีอายุครบอุปสมบท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่ 1)ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ท่านอุปสมบทในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวังโดยมีพระ สมเด็จพระสังฆราช(สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พรหมรังสี  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4 ) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกิตติ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ พระเทพกระวี ในปี พ.ศ.2397 จากนั้นในปีพ.ศ.2407 จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์

ละสังขาล
          ในวันเสาร์ แรม 2 ค่ำเดือน 8ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2415  สิริรวมอายุได้ 84 ปี  64พรรษา

ขอบคุณข้อความดีๆ จาก http://www.oknation.net/blog/fromhand/2010/04/06/entry-1
และรูปภาพจาก http://www.krusiam.com

หลวงปู่เงิน

หลวงปู่เงิน




ประวัติ
          หลวงปู่เงิน พุทธโชติ เกิดวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2353[1] ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร นามเดิมแรกเกิดของท่านคือ เงิน เมื่อท่านอายุได้ 3 ขวบ ผู้เป็นลุงได้พามาอยู่ที่กรุงเทพฯศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดชนะสงคราม ต่อมา เมื่อท่านอายุ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดชนะสงครามศึกษาพระธรรมวินัย คำภีร์มูลกัจจายน์ เวทมนตร์คาถาและวิทยาการต่างๆ จนแตกฉาน จากนั้น ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปี ณ วัดชนะสงคราม มีฉายาว่า "พุทธโชติ" บวชได้ 3 พรรษา ก็ย้ายมาจำพรรษาที่วัดคงคาราม (วัดบางคลานใต้) ต่อมาย้ายเข้าไปอยู่ที่ในหมู่บ้านวังตะโก อยู่ห่างจากวัดคงคารามคนละฝั่งเท่านั้น ตอนที่ย้ายจากวัดคงคาราม หลวงพ่อได้นำกิ่งโพธิ์ติดต้วมาด้วย 1 กิ่งแล้วนำกิ่งโพธิ์นั้นมาปลูกเสี่ยงทาย ถ้าหากต้นโพธิ์ตายก็คงจะอยู่ไม่ได้ ถ้าหากที่นี่จะเป็นวัดได้ขอให้ต้นโพธิ์เจริญงอกงาม ปรากฏว่า ต้นโพธิ์เจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาใหญ่โต หลวงพ่อเงินก็ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ที่นี่ด้วย และท่านเป็นเพื่อนกับหลวงปู่ศุข ซึ่งหลวงปู่ศุขก็ได้ฝากกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์มาเป็นลูกศิษย์ด้วย

ละสังขาล
          เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2464 สิริอายุได้ 111 ปี

ขอบคุณข้อความดีๆ จาก http://th.wikipedia.org/wiki
และรูปภาพ จาก http://www.tumsrivichai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538652326&Ntype=5

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่น


ประวัติ
          หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต กำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชิ่อจันทร์ เพียแก่นท้าว เป็นปู่นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาดเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะ มีความทรงจำดีและขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา
          เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดาเต็มความสามารถ     
          ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสกิดใจอยู่เสมอ  
          ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์ ท่านได้ศึกษา ในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนานนามมคธ ให้ว่า ภูทตฺโต เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับ พระอาจารย์เสาร์ กันตศีลเถระ ณ วัดเลียบต่อไป    
          เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลเป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้าง เป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร แล้อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรีบยร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทานธุดงควัตร ต่างๆ    
          ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง หุบเขาซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับ เจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และ ถ้ำสิงโตห์ ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้ง ในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอน สมถวิปัสสน าแก้สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติมากขึ้น โดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลาย กระจายทั่วภาคอีสาน      
          ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ เจ้าพระคุณอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี พักจำพรรษาอยู่ที่ วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคระาห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองขอบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบันคือ อำเภอโคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่ วัดหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอเมืองพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่าน ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ละสังขาล
          ๒๔๙๒ ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร อายุ ๘๐

ขอบคุณข้อความดีๆ จาก http://www.kammatan.com/board/index.php?topic=535.0
และรูปภาพจาก https://sites.google.com/site/sphrathewtheph/-11-1



หลวงพ่อปาน

หลวงพ่อปาน


ประวัติ
          ท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ที่ตำบลคลองด่าน ตาเป็นคนจีนชื่อ เขียว ยายเป็นคนไทยชื่อปิ่น โยมพ่อไม่ทราบชื่อ แต่โยมแม่ชื่อตาล เป็นลูกสาวคนโตของยายปิ่น ในตอนเยาว์วัย ท่านได้บรรพชา เป็นสามเณรที่วัดแจ้ง หรือวัดอรุณฯ กรุงเทพฯ เพื่อเรียนหนังสือ ไทย หนังสือขอม มูลกัจจายน์ และหนังสือใหญ่ ต่อมาท่านได้สึกจากเณร มาช่วยพ่อแม่ ประกอบอาชีพ ทำจาก และตัดฟืนไปขายเป็นอาชีพประจำ ท่านเป็นผู้มีนิสัยอดทนหนักเอาเบาสู้ ทำให้พ่อแม่เบาใจมาก 
          ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ท่านก็ได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดอรุณฯ โดยมีพระศรีศากยมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วก็ได้อยู่ศึกษากับพระอุปัชฌาย์หลายปี ท่านมีความสนใจในทางกรรมฐานเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นท่านได้กราบลามาอยู่ วัดบางเหี้ย ตำบลบางเหี้ย อำเภอบางบ่อ ท่านประพฤติปฏิบัติ เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย เจ้าอาวาสขณะนั้น ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ปกครองดูแลพระเณร ออกพรรษาแล้วท่านก็ออกรุกขมูล บุกดงพงป่าเพื่ออบรมสมาธิฝึกกรรมฐาน แสวงหาความรู้วิทยาคมจากสำนักอาจารย์ที่มีชื่อเสียง รู้ว่าอาจารย์ที่ไหนดี ท่านก็บุกไปจนถึงเพื่อขอศึกษาอาคมกับอาจารย์นั้น ท่านสนใจในวิชาไสยศาสตร์ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงไม่มีความยากสำหรับท่าน เมื่อมีความชำนาญแคล่วคล่องในเวทย์มนต์ ก็ทำให้เกิดความขลัง ความรู้ความสามารถก็ทวีเป็นเงาตามตัว ต่อมาท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ปกครองสงฆ์ดูแลวัด
          นอกจากนี้หลวงพ่อปานฯยังเป็นหัวหน้าสายรุกขมูล และสอนกรรมฐานอันลือชื่อ การออกธุดงควัตร ท่านจะเป็นอาจารย์ควบคุมพระเณร เช่นเดียวกับหลวงพ่อนก วัดสังกะสีซึ่งเป็นคณะธุดงค์อีกสายหนึ่ง ทั้งสองสายมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น หลวงพ่อปานนำพระเป็นร้อยรูป บางปีก็ถึงห้าร้อย พระกรรมฐานสองสายนี้ มีชื่อเสียงมาก่อนกรรมฐานสายอาจารย์เสาร์ อาจารย์มั่น 
          เนื่องจากหลวงพ่อปานมีอาคมขลัง มีสมาธิจิตเข้มแข็ง เวลาออกรุกขมูลพักปักกลดอยู่ในป่า ตอนกลางคืนเดือนหงายๆ ท่านมักจะลองใจศิษย์ เนรมิตกายให้เป็นงูใหญ่ เลื้อยผ่านหมู่ศิษย์ไปบ้าง ทำเป็นเสือโคร่งเดินผ่านกลดศิษย์ไปบ้าง เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว 
          เนื่องจากหลวงพ่อปานได้ศึกษาวิทยาคม ในการสร้างเสือมาโดยสมบูรณ์แบบ ท่านก็เริ่มสร้างแจกจ่ายให้กับประชาชนแถวย่านบางเหี้ยก่อน ที่วัดจึงต้องต้อนรับประชาชน ที่พากันหลั่งไหลเข้าสู่วัดบางเหี้ยเพื่อรับแจกเสือ ตอนแรกคนแกะเสือก็มีเพียงคนเดียว ต่อมาต้องเพิ่มคนแกะเรื่อยๆ จนถึง ๔ คน และมากกว่านั้น แต่ที่มีฝีมือนั้นมีอยู่ ๔ คน ใครต่อใครก็พากันกล่าวขวัญว่า “เสือหลวงพ่อปาน” แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ยังรู้จัก และในสมัยนั้นไม่มีใครทำเลียนแบบ สำหรับหลวงพ่อปานวัดบางเหี้ยนั้น ท่านแก่กว่าหลวงพ่อปานวัดบางนมโค ๔๐ ปี และในจังหวัดสมุทรปราการ มีหลวงพ่อปาน วัดบางกระสอบ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ดังมากอีกองค์หนึ่ง หลวงพ่อปานเมื่อออกรุกขมูล พระเณรก็จะนำเอาเสือที่ปลุกเสกแล้วติดไปแจกประชาชนด้วย
          ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้น ประชาชนที่มีความเคารพบูชาหลวงพ่อ ได้พร้อมใจกันหล่อรูปท่านขึ้นมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่าองค์จริง เพื่อไว้เป็นที่เคารพบูชา เพราะหลวงพ่อไม่ค่อยได้อยู่วัด ท่านมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นประจำ จะได้กราบรูปหล่อแทนตัวท่าน แต่เมื่อหล่อรูปแล้วท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด ท่านมักจะปลีกตัวไปจำวัดที่พระปฐมเป็นประจำ การที่ท่านไม่อยากเข้าวัดของท่านนั้น อาจเป็นเพราะท่านรู้ล่วงหน้าว่าถึงคราวจะหมดอายุขัยแล้ว ท่านจึงต้องการความสงบในการพิจารณาธรรม แต่ท่านก็ไม่กล้าพูดกับใครๆ เมื่อญาติโยมอ้อนวอนมากๆ เข้า ท่านก็บ่ายเบี่ยงไปว่า “เข้าไปไม่ได้ อ้ายดำมันอยู่ ขืนเข้าไปอ้ายดำมันจะเอาตาย” คำว่า “อ้ายดำ” หมายถึงรูปหล่อของท่านนั่นเอง ปัจจุบันนี้รูปหล่อของท่านก็ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาส (วัดคลองด่าน หรือวัดบางเหี้ย) คืออยู่ที่กุฏิของหลวงพ่อซึ่งได้จัดสร้างขึ้นใหม่ และปรากฏความศักดิ์สิทธิ์มากมาย น้ำมนต์ที่หน้ารูปหล่อของท่านก็มีคนนำไปดื่ม และทองคำเปลวที่รูปหล่อก็มีคนนำไปปิดที่หน้าผาก เพื่อรักษาโรคได้ผลมาแล้วมากมาย

ละสังขาล
          เมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม 2453 เวลา 4 ทุ่ม 45 นาที เมื่อท่านถึงมรณภาพไปแล้วจึงร่วมกันประกอบพิธีนมัสการรูปหล่อของท่าน รูปหล่อดั้งเดิมของท่าน ปัจจุบัน อยู่ที่มณฑปวัดมงคลโคธาวาส อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ 

ขอบคุณข้อความดีๆ จาก http://www.oknation.net/blog/khonklongdan/2009/07/20/entry-5
และรูปภาพจาก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=38701


หลวงพ่อยิด

หลวงพ่อยิด





ประวัติ
          หลวงพ่อยิดท่านเกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด มีนามเดิมว่ายิด ศรีดอกบวบ บิดาชื่อ แก้ว มารดาชื่อพร้อย มีพี่น้องร่วมสายโลหิต 7 คน ท่านเป็นคนที่ 4 
          เมื่ออายุ 6 ขวบ บิดามารดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์ พระอาจารย์หวล วัดนาพรม (ท่านเป็นน้าของ ด.ช.ยิด) และเห็นว่าเป็นเด็กที่ชอบอยู่วัด และจะเดินตามหลวงน้าไปวัดทุก ๆ วัน ในตอนเช้าหลังจากใส่บาตรแล้ว ครั้นอายุได้ 9 ขวบได้บวชเป็นสามเณร ณ.วัดนาพรหม โดยมีพระอธิการหวล (หลวงน้า) เป็นอุปฌาย์ ได้ศึกษาอักขระเลขยันต์และฝึกปฏิบัติสมาธิกับพระอธิการหวล และครูหลี แม้นเมฆ มีความสนใจในด้านวิชาอาคม สักยันต์และร่ำเรียนศึกษาพระธรรมวินัย ควบคู่กันไป และได้ขออนุญาติออกธุดงค์วัตรกับพระอุปฌาย์ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร โดยออกธุดงค์เป็นเวลา 4ปี และได้ลาสิกขามาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนาตอนอายุ 14 ปี และในช่วงนี้นี่เองที่หลวงพ่อเริ่มมีชื่อเสียงจากการสักยันต์ เนื่องจากเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ได้ลองให้หลวงพ่อสักให้แล้วเกิดมีประสบการณ์ จึงเล่ากันปากต่อปากและมีผู้มาสักยันต์มากขึ้น (ขณะนั้นอายุประมาณ 17-19 เท่านั้น)
          เมื่ออายุได้ 20 ปีก็ได้อุปสมบทตามประเพณี โดยมีหลวงพ่ออินทร์ วัดยางเป็นพระอุปฌาย์ พระอธิการหวล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับ ฉายาว่า จันทสุวัณโณ และได้ศึกษาด้านวิชาอาคม เพิ่มเติมโดยฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อศุข วัดโตนดหลวง และได้ออกธุดงค์ศึกษากรรมฐานหายเข้าป่าหลายปีจนได้กลับมาวัดนาพรหม ในปี พ.ศ. 2487 ก็ได้ทราบข่าวการป่วยของบิดา จึงคอยดูแลจนกระทั่งบิดาเสียจึงลาสิกขาออกมาดูแลมารดาซึ่งแก่ชรามาก และได้แต่งงานมีครอบครัว ส่วนลูกศิษย์เก่า ๆ ที่ได้จากการสักจากหลวงพ่อ พอรู้ข่าวก็ได้มาสักกันเพิ่มขึ้นจนมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่มีบางคนที่ได้รับการสักยันต์จากหลวงพ่อแล้วกลับประพฤติตนเป็นอันธพาล จนทางตำรวจท้องที่ต้องขอร้องอาจารย์ยิด(ขณะนั้น) ให้เพลา ๆ การสักยันต์ลง 
          ต่อมาจึงมีการเลือกเฟ้นจนแน่ใจแล้ว จึงจะทำการสักให้ จนกระทั่งปี 2518 จึงได้อุปสมบทอีกครั้งที่วัดเกาะหลัก โดยมีหลวงพ่อเปี่ยมเป็นพระอุปฌาย์ ได้รับฉายา จันทสุวัณโณ เช่นเดิม ซึ่งขณะนั้นท่านอายุ 51 ปี เมื่ออุปสมบทแล้วก็เดินทางไปจำพรรษาเป็นพระลูกวัดที่ วัดทุ่งน้อย อ.กุยบุรีจ.ประจวบฯ ได้พบกับอุบาสิกาใจบุญ 2 ท่าน ยกพื้นที่ดินว่างเปล่าพื้นที่ 21 ไร่ 2 งาน ให้โดยปรารถนาให้ท่านสร้างวัดขึ้น ที่ดินผืนนี้เต็มไปด้วย ป่าไผ่ และดงต้นหนาม ซึ่งหลวงพ่อได้ปลูกกระต๊อบหลังเล็ก ๆ ไว้ และก็เริ่มถางป่าไผ่ พัฒนาไปเรื่อย ๆ จนพื้นที่รกทึบเริ่มโล่งมากขึ้น จนกระทั่งบรรดาลูกศิษย์ที่ได้รับการสักยันต์ และพวกที่เคยได้รับการรักษายาสมุนไพร ได้รู้ข่าวการสร้างวัดใหม่ของหลวงพ่อก็ได้มาร่วมกันสร้างวัดด้านผู้ชายก็ช่วยถากถาง ผู้หญิงก็ช่วยหุงหาอาหาร แจกจ่ายและได้รวมกันสร้างกุฏิขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ ในขั้นแรก และต่อมาได้พัฒนาเป็นวัดหนองจอกในปัจจุบัน 

ละสังขาล
          เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 สิริอายุ 71 ปี 30 พรรษา

ขอบคุณข้อความดีๆ จาก http://www.itti-patihan.com/pra8.php
และรูปภาพ จาก http://luangporyidamulet.fix.gs/index.php?topic=140.0

หลวงปู่สด

หลวงปู่สด


ประวัติ
          พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) (จนฺทสโร หมายถึง ผู้นำแสงสว่างมาสู่โลก ประดุจพระจันทร์ส่องสว่างยามราตรี) เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีนามตามสัญญาบัตรประกอบพัดยศสมณศักดิ์ว่า พระมงคลเทพมุนี ศรีรัตนปฏิบัติ สมาธิวัตรสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาส หรือ หลวงพ่อวัดปากน้ำ เดิมชื่อ สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่สองของนายเงินและนางสุดใจ มีแก้วน้อย มีพี่น้องร่วมมารดาบิดา 5 คน ท่านนับเป็นองค์ปฐมบรมครูแห่งวิชชาธรรมกายในยุคปัจจุบัน
          เริ่มเรียนหนังสือกับพระภิกษุผู้เป็นน้าชาย ณ วัดสองพี่น้อง แล้วมาอยู่ ณ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในความปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ ปรากฏว่าเป็นผู้สามารถเรียน-อ่านภาษาขอมได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้กลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย ด้วยความวิริยะอุตสาหะเพื่อสร้างฐานะให้มั่นคง
          เมื่อท่านอายุได้ 14 ปีโยมบิดาได้ถึงแก่กรรมลงท่านจึงรับภาระดูแลการค้าแทน ท่านฉลาดในการปกครอง ลูกเรือต่างก็รักนับถือท่านและเนื่องจากท่านเป็นคนขยันขันแข็งในการทำงาน อาชีพการค้าจึงเจริญขึ้นโดยลำดับ จนปรากฏในยุคนั้นว่า เป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง วันหนึ่งเมื่อท่านนำเรือเปล่ากลับบ้านพร้อมเงินรายได้จากการขายข้าวผ่านลัดคลองเล็กซึ่งชาวบ้านเรียกว่า คลองบางอีแท่น มีโจรผู้ร้ายชุกชุมท่านนึกถึงความตายขึ้นมา และได้อธิษฐานจิตในขณะนั้นว่า ขออย่าให้ข้าพเจ้าตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมี ก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอาย ไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้ ก็คงทำอยู่อย่างนี้ ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า ท่านบอกว่าเริ่มอธิษฐานมาตั้งแต่อายุ 19 ปี หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเล่าต่อไปว่า เมื่อตกลงใจบวชไม่สึกแล้ว จิตคิดเป็นห่วงมารดาเกิดขึ้น จึงขะมักเขม้นทำงานสะสมทรัพย์ เพื่อให้มารดาเลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต


ละสังขาล
          เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ ตึกมงคลจันทสร วัดปากน้ำภาษีเจริญ เมื่อท่านมีอายุย่าง ๗๕ โดยปี รวมพรรษาได้ ๕๓ พรรษา

ขอบคุณข้อความ ดีๆ จาก http://www.luangphorsodh.com/profile.html



หลวงปู่ทวด

หลวงปู่ทวด


ประวัติ
          หลวงปู่ทวด เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ย (ทาสทำงานใช้หนี้) ของเศรษฐีปานเกิดในรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2125 ณ บ้านสวนจันทร์ (บ้านเลียบ) ต.ดีหลวง (ปัจจุบันเป็นตำบลชุมพล) อ.สทิงพระ(จะทิ้งพระ) จ.สงขลา แรกเกิดมีชื่อว่าปู ขณะท่านเกิดมีเหตุอัศจรรย์คือเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนหนึ่งว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้วนายหูบิดาของท่านก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ต้นเลียบในปัจจุบัน
          เมื่อท่านเกิดมาแล้วก็มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นกับท่านเรื่อยมา เป็นต้นว่า ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาของท่านต้องออกไปเกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ซึ่งท้องนาแห่งนั้นห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ที่นาแห่งนั้นมีดงตาลและมะเม่าเป็นจำนวนมากครั้งนั้นจึงเรียกว่าทุ่งเม่า ปัจจุบันตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อนาเปล ในสมัยนั้นจึงมีสัตว์ป่าชุกชุมพอสมควร บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลของท่านซึ่งเป็นเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้นและก็ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น พอได้ระยะเวลาที่นางจันทร์ต้องให้นมลูก นางจันทร์จึงเดินมาที่ที่ปลูกเปลของลูกน้อย และก็เห็นงูจงอางตัวใหญ่หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกันพันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมากจึงเรียกนายหูซึ่งอยู่ไม่ไกลนักมาดูและช่วยไล่งูจงอางนั้น แต่งูจงอางนั้นก็ไม่ไปไหน นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่านายหูและนางจันทร์จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใด ๆ และปรากฏว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปูนั้น เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องเข้าก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอาจากนายหูและนางจันทร์ บิดามารดาของท่านจึงจำต้องยอมให้ลูกแก้วนั้นแก่เศรษฐีปานซึ่งเป็นนายเงิน แต่ลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิประจำตัวท่าน เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วก็เกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกันบ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปู และยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสและต่อมาก็มีฐานะดีขึ้น ๆ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิม
          เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 7 ขวบ พ.ศ. 2132 บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือ ที่วัดกุฎ๊หลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านท่าน ขณะนั้นมีท่านสมภารจวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านเป็นลูกแก้วประจำตัวท่านต่อไป
          ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดเวลาของท่าน ต่อมาท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจ ปัจุบันก็คือเรียนนักธรรมนั่นเอง โดยนำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาครองเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยังหรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ห่างจากวัดดีหลวงไปทางเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังนั้น หลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้น
          โดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นสำนักเรียนและมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสี เป็นเจ้าอาวาส และบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบกาลอุปสมบท ท่านได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญามาก และได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากสมเด็จพระเอกาทศรศในครั้งสุดท้ายในราชทินนามที่ สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ สุดท้ายเมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน ต่อมาท่านได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ว่าเมื่อท่านมรณภาพให้นำพระศพท่านไปไว้ที่วัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี 

ละสังขาร
          หลวงปู่ทวด ได้ละสังขารด้วยโรคชราในปลายรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225 สิริอายุได้ 100 ปี นับพรรษาได้ 80 พรรษา

ขอบคุณขอความดีๆ จาก http://th.wikipedia.org/wiki/
และรูปภาพจาก http://webboard.sanook.com/forum/?topic=3587556